ดอกไม้
คือโครงสร้างการขยายพันธุ์ของพืชดอก (พืชในส่วน Magnoliophyta
หรือเรียกว่า angiosperm) การทำงานเชิงชีววิทยาของดอกไม้มักจะเป็นการขยายพันธุ์ด้วยกลไกแบบสเปิร์มกับไข่
การปฏิสนธิของดอกไม้สามารถเกิดได้ข้ามดอก
(การรวมตัวของสเปิร์มและไข่ที่มาจากดอกอื่นหรือต้นอื่นในกลุ่มประชากร)
หรือเกิดในตัวเองก็ได้ (การรวมตัวของสเปิร์มและไข่ในดอกเดียวกันนั้น)
ดอกไม้บางชนิดผลิตส่วนแพร่พันธุ์ (diaspore)
โดยไม่ต้องมีการปฏิสนธิ (การเกิดผลลม) ดอกไม้จะมีอับสปอร์ (sporangia)
เป็นแหล่งสร้างแกมีโทไฟต์ ดอกไม้คือส่วนที่เกิดเป็นผลไม้และเมล็ด ดอกไม้หลายชนิดวิวัฒนาการตัวเองเพื่อดึงดูดสัตว์เช่นแมลง เพื่อให้เป็นตัวช่วยส่งถ่ายละอองเรณู
นอกจากการเอื้ออำนวยต่อการขยายพันธุ์ของพืชดอก
ดอกไม้ยังเป็นที่นิยมชมชอบและใช้เพื่อตกแต่งสภาพแวดล้อมในสังคมมนุษย์
และดอกไม้ก็เป็นตัวแทนแห่งความรักใคร่ ความเชื่อ ศาสนา
สามารถใช้เป็นยารักษาโรคและแหล่งอาหารได้
ส่วนประกอบ
ดอกไม้มีส่วนประกอบหลักอยู่ 4 อย่าง
1.
กลีบเลี้ยง
2.
กลีบดอก
3.
เกสรตัวผู้
4.
เกสรตัวเมีย
ชนิดของดอกไม้แบ่งตามเพศ
1.
ดอกสมบูรณ์เพศ
คือ ดอกไม้ที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน เช่น ชบา มะเขือ
กุหลาบ บัว ถั่ว มะลิ เฟื่องฟ้า อัญชัน ข้าว ต้อยติ่ง แค ผักบุ้ง เป็นต้น
2.
ดอกไม่สมบูรณ์เพศ
คือ ดอกไม้ที่แต่เกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มะยม ตำลึง
แตงกวา เงาะ ฟักทอง มะพร้าว บวบ มะระ มะเดื่อ ข้าวโพด ดอกหน้าวัว เป็นต้น
แบ่งตามส่วนประกอบ
1.
ดอกสมบูรณ์
คือดอกไม้ที่มีส่วนประกอบครบทั้ง 4 อย่างใน 1 ดอก ได้แก่ เกสรตัวผู้ เกสรตัวเมีย
กลีบเลี้ยง กลีบดอก เช่น มะลิ อัญชัน พริก แค ต้อยติ่ง การเวก ชงโค กุหลาบ เป็นต้น
2.
ดอกไม่สมบูรณ์
คือดอกไม้ที่ไม่ได้มีส่วนประกอบครบทั้ง 4 อย่างใน 1 ดอก อาจขาดส่วนประกอบใดส่วนประกอบหนึ่งไป
เช่น ข้าว ข้าวโพด หญ้า แตงกวา มะระ มะละกอ จำปา จำปี บานเย็น มะยม มะพร้าว
ดอกหน้าวัว อื่นๆ เป็นต้น
ข้อสังเกต
- ดอกสมบูรณ์ต้องเป็นดอกสมบูรณ์เพศเสมอ
แต่ดอกสมบูรณ์เพศอาจไม่เป็นดอกสมบูรณ์
- ดอกไม่สมบูรณ์เพศต้องเป็นดอกไม่สมบูรณ์เสมอ
แต่ดอกไม่สมบูรณ์อาจเป็นดอกสมบูรณ์เพศ